top of page
  • รูปภาพนักเขียนแอดมินแก้ว

ไม่ได้ใช้รุ่น Top ก็ถ่ายรูปด้วยมือถือให้สวยได้

อัปเดตเมื่อ 17 มี.ค. 2564

สวัสดีครับทุกคน กลับมาเจอกันอีกครั้งกับ Mobile Photographer Original Content นะครับ พอดีมี Comment หนึ่งใน Fanpage บอกว่า อยากให้แก้วทำ Content ถ่ายรูปกับ Smartphone รุ่นเริ่มต้น สำหรับคนงบน้อยบ้าง Flagship ถ่ายรูปสวย เห็นใครๆ ก็ทำกัน วันนี้เลยออกมาเป็น Content นี้

รวม Tricks ถ่ายรูปด้วยมือถือ สวยได้ แม้ไม่ได้ใช้รุ่น TOP
1. เวลาเลือกซื้อ ให้ดูคุณภาพของกล้องหลัก

ที่บอกให้เน้นที่ " กล้องหลัก " ก็เพราะ ต้องยอมรับกันตรงนี้ก่อนว่า กับ Smartphone ในราคาไม่ถึงหมื่น ที่สมัยนี้ ขนกล้องมาใส่ใน Module เป็นกระบุง แต่ครับแต่ . . . คุณภาพของไฟล์ นั้นมันไม่ได้เรื่องเอาซะเลย อีกอย่าง กล้องหลักมักมี ขนาด Sensor ที่ใหญ่ รับแสงได้มาก สามารถถ่ายภาพได้หลากหลายสภาพแสงมากกว่า

ข้อควรพิจารณาสำหรับ กล้องหลัก
  • จำนวน Pixel ของภาพ : ปัจจุบัน Start กันตั้งแต่ 12MP จนถึง 64MP อย่าสนแต่ตัวเลขให้ถ่ายแล้วลองซูมดูรายละเอียดของภาพ และลองถ่ายในสภาพแสงที่ดี และสภาพแสงที่มืดด้วยนะครับ

  • ค่า f - stop ของกล้อง : โดยปกติแล้ว ถ้า Smartphone รุ่นนั้น มีค่า f ของกล้องหลักที่ต่ำ แบรนด์จะหยิบมาชูโรงอยู่แล้ว เพราะค่า f ที่ต่ำนั้น ช่วยให้เราถ่ายภาพได้สว่างมากขึ้น และมีมิติมากขึ้น

  • Software HDR และ Blur : น้อยครั้งที่เราจะเห็นว่า Smartphone ราคาหลักพันนั้น จะมีกล้อง Telephoto สำหรับ Portrait ฉะนั้น Software สำหรับการเบลอฉากหลัง จึงเป็นอะไรที่ต้องเลือกให้ดี

2. พยายามเลือกถ่ายในเวลาที่สภาพแสงเหมาะสม

การถ่ายภาพ คือ การวาดภาพด้วยแสง แสง จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญ ลำดับต้นๆ ที่ควรคำนึงถึงพยายามนึกเอาไว้เสมอว่า " เราเปลี่ยนคุณภาพของอุปกรณ์ไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนคุณภาพแสงได้ "

อย่างภาพนี้ถ่ายเวลาประมาณ 16.30 ซึ่งเป็นเวลาที่ องศา และอุณหภูมิสีของแสง เหมาะสมกกับการถ่ายภาพ Portrait ทำให้ได้คุณภาพของภาพสูงสุด และ แสงนวลไม่แข็งจนเกินไป


ตรงกันข้าม หากเราถ่ายภาพใน Condition ที่มีสภาพแสงที่น้อย ไม่เอื้ออำนวย คุณภาพของไฟล์ จะลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะกับรุ่นเริ่มต้น จะเห็นความต่างได้ชัดเจนมาก ฉะนั้น ถ้าหากต้องการถ่ายภาพในเวลากลางคืน ให้มองหาจุดกำเนิดแสงที่ใกล้ที่สุด หรือถ่ายด้วย Mode Pro พร้อมขาตั้ง

ยิ่งเมื่อเราต้องการถ่ายภาพ Portrait สภาพแสงที่เพียงพอ เป็นอะไรที่สำคัญมากๆ Software เบลอฉากหลังอาจทำงานได้ไม่เต็มที่ และอาจทำให้เราได้ภาพที่ไม่สวย
3. เลือก Background เรียบๆ ช่วยให้ ละลายฉากหลังเนียนๆ

Software ที่ให้มาสำหรับการละลายฉากหลังด้วย Smartphone รุ่นเริ่มต้น หรือรุ่นกลาง ในหลายๆ รุ่นอาจจะไม่ได้มีความแม่นยำในการเก็บขอบมากมายนัก ยิ่งสภาพแสงแย่ หรือ Background มีรายละเอียดมาก ทำให้ ไม่สามารถประมวลผลออกมาได้แม่นยำ ฉะนั้นเลือกฉากหลังเรียบๆ กันเถอะครับ

ภาพด้านล่างนี้ BG ไม่ได้มี Detail อะไรมากนัก ทำให้สามารถเก็บขอบการทำ Blur ฉากหลัง ในส่วนช่วงตัว และส่วนผมได้เป็นอย่างดี และดูไม่หลอกตา

แต่เมื่อฉากหลังมี Detail เยอะมาก เราจะเริ่มเห็นการเก็บขอบที่ส่วนของผมมีการเก็บขอบหลุดไป หรือแม้กระทั่งถ้าสีเสื้อผ้าของเรา ไปคล้ายกับฉากหลังก็มีโอกาสที่ทำให้ Software ทำงานได้ไม่แม่นยำ เช่นภาพด้านล่างนี้ครับ

4. เลือกใช้มุมมองที่แปลกตา แทนฟีเจอร์ที่หวือหวา

Smartphone ในทุกวันนี้มักจะมี Feature การถ่ายภาพที่แปลก แหวกแนวมากขึ้นทุกวัน หลายๆ คนตัดสินใจซื้อ Smartphone รุ่นใหม่ทุกปี เพราะอยากใช้ Feature ใหม่ๆ เหล่านั้น แต่มีอย่างหนึ่งที่เราสามารถ สร้างเพิ่มได้ทุกวัน คือการหามุมมองในการถ่ายภาพที่แปลกตา

วันไหนเดินกลับบ้าน ในเส้นทางเดิมๆ ลองเงยหน้ามองมุมใหม่ๆ ใช้เส้นสาย ใช้รูปทรงต่างๆ ถ่ายภาพใหม่ๆ ออกมา
5. อย่าใช้ Digital Zoom ถ้าไม่จำเป็น !

Smartphone ในระดับราคาเริ่มต้นมักจะไม่มีกล้อง " Telephoto " มาให้อยู่แล้ว ฉะนั้นหากเรากด Zoom มันก็ Digital Zoom คือการ Crop ภาพเข้าไปจาก ขนาด Sensor เดิมของกล้อง ผลที่ได้ก็คือ ระยะจะใกล้ขึ้น แต่คุณภาพ จะดรอบลงอย่างเห็นได้ชัด ดูตัวอย่างได้ที่ภาพด้านล่างนี้เลย

6. สร้างมิติให้ภาพโดยไม่ต้องใช้กล้อง Telephoto

การวาง Foreground หรือ ฉากหน้าเอาไว้ใกล้ตัวของเรา จะช่วยสร้างมิติให้กับภาพถ่ายของเราได้ ถึงแม้ว่าจะเราจะไม่มีกล้อง Telephoto ก็ตาม ที่เป็นแบบนี้เพราะว่า ค่า f stop ของกล้องหลัก มักจะต่ำในระดับ 1.7-1.9 ทำให้เมื่อวางหน้ากล้องไว้ใกล้วัตถุ แล้วเราเลือกโฟกัส Object ที่อยู่ด้านหลัง สิ่งที่อยู่ใกล้กล้องจะเบลอ

อย่างภาพด้านล่างนี้เราใช้ ต้นไม้วางเอาไว้เป็นฉากหน้าทางด้านขวา ในระยะประมาณ 5-10 cm

ละลายฉากหลังสร้างมิติไม่ได้ ก็ละลายฉากหน้าแทนละกัน
7. Ultra Wide Angle ขอบภาพเบี้ยวหรอ ? อย่าได้แคร์

กล้อง Ultra Wide Angle ในมือถือรุ่นล่างๆ มักจะมีคุณภาพของ Optic ที่ไม่ได้ดีมาก และนั่นมาพร้อมกับ Distortion หรืออัตราการบิดเบี้ยวของภาพ เวลาเราถ่ายภาพ สถาปัตยกรรม หรือ ภาพวิว จะสังเกตได้จากเส้นขอบฟ้า จะมีความเบี้ยว ความโค้งอย่างเห็นได้ชัด หรือบางทีก็ฟุ้งๆ ไม่คมชัด

เอาความเบี้ยว ความกว้าง ของเลนส์กล้อง จากจุดอ่อน มาเป็นจุดแข็งแทน สร้างภาพให้ดูแปลกตา ดูเท่
การถ่ายสิ่งปลูกสร้างใหญ่ๆ โดยการย่อตัวลง แล้วถ่ายงัดจากด้านล่างขึ้นด้านบน ช่วยให้ภาพดูอลังการมากขึ้น ดูมีพลัง !

ซ่อนการบิดเบี้ยวของเลนส์ ด้วยการเลือกวาง Object ที่มีเส้นสายโค้งแบบเดียวกับ Distortion

8. ใช้ Night Mode แล้วภาพไม่คม งั้นไปเล่นกับสีสันในภาพ

น้อยครั้งจริงๆ ที่เราจะเห็น มือถือราคาหลักพัน หรือหมื่นต้นที่มี Night Mode ฉลาดๆ สามารถรีดศักยภาพการถ่ายภาพเวลากลางคืนออกมาได้เต็มที่ ถ้ารุ่นที่เรามีอยู่ เวลาถ่ายออกมาแล้วภาพไม่คม ดูเป็นวุ้นๆ แต่ได้เรื่องสี กับความสว่าง งั้นเราพยายามเน้นไปที่ 2 เรื่องนั้นแทนครับ

คุณสมบัติของ Night Mode นอกจากว่าจะช่วยเติมแสงในส่วนมืดให้สว่างแล้ว ยังเฉลี่ยแสงในภาพให้พอเหมาะด้วย แต่ก็ต้องแลกมากับการที่ Noise Reduction จะพยายามลดจุดรบกวนจนภาพเป็นวุ้นๆ ภาพด้านล่างนี้ เลยเลือกถ่ายด้วยการใช้ลูกเล่นแบบ Motion Blur และเน้นแสงสีในภาพไปเลย

9. ขอแค่มีโหมด Pro และใช้เป็น ถ่ายดาว ไม่ยากอย่างที่คิด

หลายคนคิดว่ามือถือไม่แพง ไม่ใช่รุ่นท็อป ถ่ายดาวไม่ค่อยจะติด จริงอยู่ที่เรื่องข้อจำกัดทาง Hardware อาจะทำให้ถ่ายได้ไม่ง่ายนัก แต่บอกไว้ตรงนี้เลยว่า ถ้ามี Mode Pro กล้องถูกแค่ไหน ก็ถ่ายดาวติดทั้งนั้นแหละครับ จะชัดมากน้อยแค่ไหน อยู่ที่ Condition อีกหลายสิ่ง การตั้งค่า สภาพแสงรบกวน คุณภาพของ Hardware

อย่างภาพทางช้างเผือก ถ้าฟ้ามันมืดๆ ดีจริงๆ แล้วเราเล็งใจกลางทางช้างเผือกได้ ให้ตั้งค่าประมาณ ISO 800 | Shutter Speed 8-10 วินาที หากยังสว่างไม่พอ ให้ดัน ISO ขึ้นต่อแทน Noise อาจจะเยอะหน่อย แต่เห็นรูปทรงของทางช้างเผือกชัดๆ ดีกว่าไปเน้นเรื่องคุณภาพไฟล์ แล้วไม่เห็นอะไรเลย

 
เป็นยังไงกันบ้างครับกับเทคนิคการใช้กล้องมือถือ ราคาไม่แพง แต่ได้รูปสวยไม่แพ้ตัวท็อป ที่แก้วเอามาฝากกันในวันนี้ หวังว่าจะได้ประโยชน์ เอาไปปรับใช้กันนะครับ

[ ติดตาม Mobile Photographer ได้ที่ ]

IG : kaew.ravie

0 ความคิดเห็น

コメント


bottom of page